23:17

จังหวัดอุตรดิตถ์

" เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก "

http://61.19.236.136/tourrist/images/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%812.jpg

พระยาพิชัยดาบหัก



ข้อมูลทั่วไป :

จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เมืองแห่งพระแท่นศิลาอาสน์ ตำนานเมืองลับแลที่มีแม่ม่ายและสาวสวย เมืองแห่งลางสาดหวานหอม และบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่บารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มาแต่อดีตกาล โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานผ่านพัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย นับแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

จากการค้นพบกลองมโหระทึก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2470 ทำให้เราทราบว่าอุตรดิตถ์ เป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พ.ศ. 1000 แล้ว เพราะโบราณวัตถุที่ค้นพบดังกล่าวเป็นโลหะที่มีใช้กันอยู่ในยุคสัมฤทธิ์หรือ ยุคโลหะตอนต้น อันเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเอง จึงนับได้ว่า อุตรดิตถ์เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามมาโดยลำดับ และสิ่งที่ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุตรดิตถ์ ก็คือ ความเกรียงไกรของพระยาพิชัยดาบหัก เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" ขึ้นกับเมืองพิชัย แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความ เจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่าท่าน้ำแห่งทิศเหนือ แต่ยังคงขึ้นกับเมืองพิชัยอยู่ ต่อมาอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และเมืองพิชัยเลื่อนลงไปเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์จนทุกวันนี้

อาณาเขตและการปกครอง :

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแพร่และน่าน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก เลย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแนวเขตแดนยาว 120 กิโลเมตร
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ 7,838.592 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอตรอน อำเภอพิชัย อำเภอลับแล อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าปลา อำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า และอำเภอทองแสนขัน

แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์

แผนที่ตัวเมืองอุตรดิตถ์

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.เมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน วัดท่าถนนเดิมชื่อ วัดวังเตาหม้อ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน นั่งขัดสมาธิเพชร ตามประวัติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2436 ขณะหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อเพชร”
วัดธรรมาธิปไตย ตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้สี่แยกจุดตัดของถนนอินใจมีกับถนนสำราญรื่น เดิมชื่อวัดต้นมะขาม ภายในวัดเป็นที่เก็บบานประตูของวิหารหลังใหญ่ และเก่าแก่มากของวัดพระฝาง บานประตูทำจากไม้ปรูขนาดกว้าง 2.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนา 16 เซนติเมตร แกะสลักในสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด มีลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มมีกนกใบเทศขนาบสองด้าน กล่าวกันว่า เป็นบานประตูไม้แกะสลักที่มีความงามเป็นที่สองรองลงมาจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ที่กรุงเทพฯ
วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญรื่น ตำบลท่าเสา อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟท่าเสา วัดนี้มีวิหารเก่าแก่ซึ่งมีบานประตูไม้แกะสลัก 2 บาน ตลอดจนลายไม้ที่วิหารด้านหน้า และมีหอไตรโบราณที่มีรูปแบบสีสันสวยงาม ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลอง สนามรบ และวิถีชีวิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ
หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าและเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ “ยานมาศ” หรือ คานหามไม้แกะสลักโปร่ง 3 ชั้น กว้าง 73 เซนติเมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 1.45 เมตร เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ยานมาศนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเดินทางมาตรวจราชการ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444 ว่าทรงพบยานมาศแบบนี้ 4 คัน คันแรกทรงพบที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อีก 2 คัน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
ครั้นมาถึงอุตรดิตถ์ก็พบอีกคันที่วัดท่าเสา ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนชมที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ หอวัฒนธรรมฯ จะเปิดให้ชมฟรีเฉพาะวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์เท่านั้น และช่วงเช้าตั้งแต่เวลาตีห้า จะมีชาวบ้านจากอำเภอต่าง ๆ นำของพื้นบ้านมาขาย สามารถชมวิถีชีวิตชาวบ้านได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมหอวัฒนธรรมฯ เป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้ามาก่อน ถึงสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี จังหวัดอุตรดิตถ์
วัดกลาง อยู่ ที่ตำบลบ้านแกะ ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร วัดกลางเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฎชื่อผู้สร้าง มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองมีพุทธลักษณะงดงาม เป็นศิลปแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมศิลปะแบบลาวหลวงพระบาง และจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม
วัดพระฝาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวขวาไปทางพิษณุโลก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายจากทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร วัดนี้มีชื่อเต็มว่า “วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช วัดพระฝางประกอบด้วยโบสถ์ วิหารและพระธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับบานประตูแกะสลักของพระวิหารเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย
กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา อยู่ ที่บ้านท่า หมู่ 5 ตำบลหาดกรวด ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางวังกะพี้ (ทางหลวงหมายเลข 1040) ขับตรงไปข้ามสะพานจนเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอตรอน ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเจอป้ายหมู่บ้านอุตสาหกรรมอยู่ทางขวามือเลี้ยวเข้าไปประมาณ 300 เมตร กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา โดยได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาจากกลุ่มแม่บ้านบ้านท่ามีฝีมือการผลิตที่ปราณีตและรูป แบบที่ทันสมัย และที่สำคัญมีราคาย่อมเยามาก เหมาะที่จะซื้อมาเป็นของตกแต่งบ้านหรือของฝาก เช่น โคมไฟ แจกัน กระเป๋า ตะกร้า รองเท้า ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อคุณอุ่นเรือน โหมดพันธ์ ประธานกลุ่ม โทร. (055) 445354

อำเภอลับแล
อำเภอลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 อีก 6 กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ ณ บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจกและไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ อยู่ตรงสี่แยกตลาดลับแล เดิมชื่อ ทองอิน เป็นนายอากรสุรา เชื้อสายจีน แต่ด้วยความรักในท้องถิ่นจึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิศาลจีนะกิจ และเลื่อนเป็นพระศรีพนมมาศ ในปี พ.ศ. 2451
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีตำนานเกี่ยวพันกับอีก 2 วัด ที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า วัดแห่งนี้เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ประกอบด้วยวิหารแบบล้านนาซึ่งอยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นพระบรมธาตุทุ่งยั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์เก่าแก่แบบลังกาทรงกลมฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นบริวารอยู่ 4 มุม ฐานชั้นที่ 3 มีซุ้มคูหา 4 ด้าน สันนิษฐานว่าได้บูรณะขึ้นภายหลัง
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อยู่เลยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 500 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือของถนนใกล้ทางแยก ภายในมีมณฑปเป็นศิลปะแบบเชียงแสน ครอบรอยพระพุทธบาทคู่ที่ประดิษฐานบนฐานดอกบัวสูงประมาณ 1.5 เมตร ที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคลนี้ ยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยเรียกกันว่า “หลวงพ่อพุทธรังสี” เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑปมีปูนพอกหุ้มไว้ทั้งองค์ ต่อมาได้กระเทาะปูนออกและนำไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่สร้างใหม่
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้ง อยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระแท่นศิลาอาสน์เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธ บารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้น บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่เป็นไม้สักแกะสลักนั้น เดิมเคยเป็นบานประตูวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกมาก่อน นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่เดิมเป็นศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ มี 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตชาววัง - ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก-ก่อสร้าง เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณฝีมือช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปที่แกะจากต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น.
วัดเจดีย์คีรีวิหาร อยู่ที่หมู่ 1 บ้านวัดป่า ตำบลฝายหลวง ห่างจากตัวจังหวัด 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1040-1043 เป็นบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอันงดงาม บานประตู และหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก
อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร อยู่หมู่ 7 บ้านท้องทับแล ตำบลฝายหลวง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 เป็นอนุสาวรีย์ของปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแล
น้ำตกแม่พูล อยู่ที่หมู่ 4 บ้านต้นเกลือ ตำบลแม่พูล เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนให้น้ำไหลลดหลั่นจากบนเขาสูงลงมา ดูคล้ายน้ำตกธรรมชาติ สูงหลายชั้น สภาพโดยรอบร่มรื่น บริเวณใกล้ ๆกับน้ำตกเป็นสวนลางสาด บริเวณน้ำตกมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและที่จอดรถไว้บริการ
การเดินทาง จากอำเภอเมืองถึงอำเภอลับแล ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 ประมาณ 12 กิโลเมตร หรือขึ้นรถสองแถวที่ถนนตุลาสถิตย์ ในตัวเมืองรถจะออกทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00–17.30 น. หรือจะเหมาแท๊กซี่ไปก็ได้

อำเภอท่าปลา
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน อยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วยป่านานาชนิดที่ยังคงความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 624,468 ไร่ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก เช่น เก้ง กวาง หมูป่า หมี และสัตว์ปีกจำนวนไม้น้อยกว่า 200 ชนิด ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จุดที่สูงที่สุดของอุทยานฯ คือ ยอดเขาภูพญาพ่อ สูงถึง 1,350 เมตร ซึ่งจะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี มีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 203 กิโลเมตร ภายในมีเกาะแก่งมากมาย เหมาะสำหรับการล่องแพชมวิวทิวทัศน์
จุดชมวิว เส้นทางสายป่าแดง น้ำกราย นางพญา ซึ่งลัดเลาะตามริมเขา มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก เนื่องจากเส้นทางสายนี้ตัดผ่านป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาทำให้อากาศเย็นสบาย นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นพรรณไม้นานาชนิด เช่น กล้วยไม้ป่า พญาเสือโคร่ง และเฟิร์นพันธุ์ต่าง ๆ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จะมี 2 เส้นทาง คือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 4 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะมีจุดชมวิวตลอดระยะทาง นอกจากนั้นยังมีสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์
แก่งนางพญา จะเป็นแก่งหินน้อยใหญ่ลดหลั่นกันลงไป อยู่กลางลำน้ำนางพญา มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณแก่งดูสวยงามมาก
นอกจากนี้ในอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ยังมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเชิงทอง น้ำตกห้วยมุ่น และน้ำตกดอยผาหมอก ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เชิงทอง สามารถเดินทางจากจังหวัดแพร่สะดวกกว่า คือ จากตัวอำเภอแพร่ เข้ามาทางวัดพระธาตุช่อแฮ พอถึงวัดพระธาตุช่อแฮ ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 9 กิโลเมตร
การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ 36 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ผ่านสามแยกร่วมจิต และสามแยกห้วยเจริญจะพบทางแยกซ้ายมือ ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
เขื่อนสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่บ้านผาซ่อม ตำบลท่าปลา เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม สันเขื่อนยาว 800 เมตร กว้าง 12 เมตร สูง 113.6 เมตร บริเวณเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบใหญ่ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบสุริยันจันทรา มีทิวทัศน์สวยงาม เมื่อไปถึงบริเวณเขื่อน นักท่องเที่ยวควรไปติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวบริเวณเขื่อน การจองที่พัก การเช่าจักรยาน การให้เช่าเรือท่องทะเลสาบเหนือเขื่อน อัตราค่าเช่าเรือล่องในเขื่อนสิริกิติ์คือ เรือขนาด 150 คน ค่าเช่าชั่วโมงละ 1,700 บาท และเรือขนาด 30 คน ค่าเช่าชั่วโมง 1,400 บาท นอกจากนั้นยังมีสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ให้บริการ เขื่อนสิริกิติ์มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ราคา 500–1,200 บาท สอบถามสำรองที่พักได้ที่ โทร. (055) 412639 ต่อ 2501, 2503-5
การเดินทาง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (เขื่อนสิริกิติ์-ท่าปลา) ถึงเขื่อนสิริกิติ์ ระยะทาง 58 กิโลเมตร หรือนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปลงที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และต่อรถโดยสารสายอุตรดิตถ์-ฟากท่า-บ้านโคก รถจะจอดที่หอนาฬิกา ถนนสำราญรื่น หรือจะเหมารถแท๊กซี่บริเวณสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ก็ได้
บ้านท่าเรือ เป็น หมู่บ้านริมทะเลสาบ ตั้งอยู่หมู่ 9 บ้านท่าเรือ เป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายปลา และมีแพสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะล่องแพเที่ยวชมอ่างเก็บน้ำ และทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งแบบค้างคืนหรือเช้าไปเย็นกลับก็ได้ มีอาหารพร้อม สามารถติดต่อได้ที่ เกษณี แพทัวร์ โทร. 01–605-6211 และแพสมบูรณ์พร้อม โทร. 01–971-2527, 01–280–9188
การเดินทาง จากอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทาง 1145 ประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงสามแยกร่วมจิต แยกซ้ายอีก 10 กิโลเมตร (ไปทางอำเภอท่าปลาและเขื่อนดิน) ถึง อำเภอท่าปลา มีทางแยกซ้ายไปบ้านท่าเรืออีก 7 กิโลเมตร (ทาง รพช. บ้านสามร้อยเมตร-บ้านท่าเรือ ต่อด้วยทาง รพช. สายบ้านเลิศชัย-บ้านห้วยรกช้าง)

อำเภอน้ำปาด
วนอุทยานต้นสักใหญ่ อยู่ ที่หมู่ 4 บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีเนื้อที่ 22,000 ไร่ ภายในมีต้นสักใหญ่ ซึ่งได้ถูกพบเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 มีอายุประมาณ 1,500 ปี ความยาวรอบต้น 1007 เซนติเมตร วัดเมื่อ 18 มิถุนายน 2543 แม้ส่วนยอดถูกพายุพัดหัก ลำต้นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพเดิมโดยได้รับการดูแลรักษาให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์ และในวนอุทยานต้นสักใหญ่ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร การจะเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงฝ่ายอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000 โทร. (055) 258028 ต่อ 502
การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ประมาณ 60 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1146 ประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านห้วยปูดเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 ประมาณ 10 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ 149,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อปี 2537 ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงตามแนวชายแดนไทย-ลาว มียอดภูสอยดาวสูงที่สุด 2,102 เมตร จากระดับทะเล สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงที่ป่าปกคลุม เป็นป่าดิบเขาสลับทุ่งหญ้าและป่าสน เช่นป่าสนสามใบ อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีดอกไม้ป่าพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ดอกหงอนนาค ดอกไม้ดินต่าง ๆ ขึ้นอยู่กลางป่าสน
ภูสอยดาว สามารถจะมาท่องเที่ยวได้ทั้งปี แต่ถ้าหากอยากดูดอกไม้สีสวย ๆ ที่มักจะขึ้นเพื่อรับความชุ่มชื้นในช่วงหน้าฝน ควรจะมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว
สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกภูสอยดาว อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี แต่จะมีน้ำมากในช่วงหน้าฝน
ลานสน การเดินทางสู่ยอดลานสนต้องขึ้นเขาลาดชันเกือบตลอดเส้นทาง และผ่านเนินต่าง ๆ ที่มีชื่อบอกถึงความยากลำบากในการเดินผ่านแต่ละเนิน เช่น เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ ที่มีความสูงชันมากที่สุด แต่เส้นทางที่เดินขึ้นไปนั้นไม่ยุ่งยากเพราะจะเดินไต่เขาขึ้นไปตามสันเขาไม่ มีทางแยกไปไหน ระยะทางเดินเท้าขึ้นลานสนประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 5-6 ชั่วโมง บนลานสนจะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นสนสองใบ สนสามใบ ต้นหงอนนาค ที่มีสีม่วงตัดกับดอกสร้อยสุวรรณาที่มีสีเหลือง ออกดอกให้ดูสวยงาม และดอกไม้อีกนานาชนิดที่ขึ้นอวดความสวยงามและสร้างความสดขื่นสดใสให้กับลาน สน บนลานสนเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามด้วย บนลานสนไม่มีบ้านพักและอาหาร หากต้องการจะขึ้นไปพักค้างแรมต้องเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง และหากนักท่องเที่ยวต้องการลูกหาบช่วยขนสัมภาระก็มีบริการ การจะขึ้นบนลานสนต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง และอุทยานฯ จะอนุญาตให้ขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 08.00–13.00 น.
น้ำตกสายทิพย์ เป็นน้ำตกอยู่บนลานสน มี 7 ชั้น ทางไปน้ำตกเป็นหุบเขา ค่อนข้างลาดชัน
อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว และสามารถกางเต็นท์ได้บนยอดลานสน สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579–5734, 579–7223 หรือที่ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ 53110
การเดินทาง จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1045 ผ่านเขื่อนสิริกิติ์ สู่อำเภอน้ำปาด ระยะทาง 68 กิโลเมตร ต่อจากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1239 ไปทางบ้านห้วยมุ่นอีกประมาณ 47 กิโลเมตร และจากบ้านห้วยมุ่นใช้เส้นทางหมายเลข 1268 อีก 18 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกภูสอยดาว ซึ่งเป็นจุดเริ่มเดินเท้าขึ้นสู่ยอดลานสน
สำหรับรถโดยสารประจำทาง จากอุตรดิตถ์จะมีรถโดยสารปรับอากาศออกจากตลาดอำเภอเมือง (ตลาดต้นโพธิ์) ไปอำเภอน้ำปาดทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00–17.00 น. (แต่รถเที่ยวแรกจะเข้ามาที่สถานีขนส่ง เวลา 05.00 น.) ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง จากนั้นลงรถที่หน้าโรงพยาบาลอำเภอน้ำปาด จะมีท่ารถสองแถว ต้องเหมารถไปภูสอยดาวประมาณ 300 บาท ใช้เวลาเดินทางอีก 3 ชั่วโมง
สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับทางอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ต้องเหมารถไป ราคาประมาณ 500 บาท ใช้เวลา 2 ชั่วโมง และต่อรถโดยสารไม่ปรับอากาศที่อำเภอชาติตระการ สายชาติตระการ-นครไทย-พิษณุโลก มีรถบริการระหว่างเวลา 05.00–17.30 น. ช่วงนี้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 43 บาท รถโดยสารจากพิษณุโลก กลับกรุงเทพฯ ควรจะไปซื้อตั๋วที่บริษัทในตลาดโดยตรงมากกว่าที่จะมาที่สถานีขนส่ง เนื่องจากมีโควต้าขายตั๋วน้อย

อำเภอทองแสนขัน
บ่อเหล็กน้ำพี้ อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 เป็นโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งเหล็กกล้า ที่นำมาทำพระแสงดาบตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมมีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ มีบ่อหนึ่งเรียกว่า “บ่อพระแสง” ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยสงวนไว้ใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น และ “บ่อพระขรรค์” เป็นบ่อที่ในสมัยโบราณมีช่างทำพระขรรค์ถวายพระมหากษัตริย์ ได้นำแร่เหล็กน้ำพี้จากบ่อพระขรรค์ไปถลุงทำพระขรรค์ ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้ รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติเหล็กน้ำพี้ โดยจัดแสดงและจำลองให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการตีเหล็กน้ำพี้ ตั้งแต่การขุดแร่เหล็กน้ำพี้จนตีเป็นดาบที่มีความแกร่งและความคมเป็นเลิศ ดาบน้ำพี้จึงเป็นอาวุธคู่กายของขุนศึกและนักรบไทยในสมัยโบราณตลอดมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น.

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน มีพื้นที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และอำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ป่าปกคลุมตามเทือกเขาสลับซับซ้อนที่อยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุดของเขื่อนสิริกิติ์ ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ประมาณ 624,468 ไร่ หรือ 999.15 ตารางกิโลเมตร โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดราว 203 ตารางกิโลเมตร ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิตติ์เข้าไว้ด้วย
จากการสำรวจพื้นที่บริเวณป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หรือลำน้ำน่าน ซึ่งประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และสัตว์ป่าหลายชนิด
ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดบริเวณที่ดิน ป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่ตำบลสวนเขื่อน ตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่ตำบลท่าแฝก ตำบลนางพญา ตำบลน้ำหมัน ตำบลจริม ตำบลท่าปลา ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อที่ ประมาณ 999.15 ตารางกิโลเมตร หรือ 624,468 ไร่ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 87 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนที่อยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุดของเขื่อน สิริกิติ์ ประกอบด้วยดอยแม่แนง ดอยสันผักเหียก ดอนสันผาหมู ดอยปางม่วงคำ ดอยผาตืบ ภูพระยาพ่อ ดอยจะคาน เขาหาดหล้า เขาหวยจันทร์ ภูม่อนกระต่าย และภูขอนแก่น เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่ น้ำแม่สาย น้ำแม่แนง ห้วยอมถ้ำ ห้วยปันเงิน ห้วยห้วยผาเวียง ห้วยปูโล ห้วยจันทร์ ห้วยม่วง ห้วยกั้ง ห้วยวังคำ และห้วยทราย เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในเขตมรสุมซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้น อากาศอบอ้าว โดยมีอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ฤดูฝนอยู่ระหว่าง เดือน พฤษภาคม - ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยประมาณ 1,440 มิลลิเมตร/ปี ฤดูหนาวในบริเวณยอดดอยและเทือกเขามีอากาศหนาวจัด ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยว
พรรณไม้และสัตว์ป่า
ป่าเหนือเขื่อนสิริกิติ์ พบว่ามีอยู่ 4 ประเภท คือ
ป่าดิบแล้ง พบอยู่ตามบริเวณเชิงเขา ยอดเขา และริมลำห้วย ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-1,200 เมตร พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ กระบก กระท้อน ตะเคียนหิน สมพง มะม่วงป่า มะยมป่า ตาเสือ ยาง ไผหก ไผเฮียะ ตาว หวาย กล้วยป่า ผักกูด เฟิน ฯลฯ
ป่าเบญจพรรณ พบตามเนินเขามีความลาดชันไม่มากนักในระดับความสูงจากน้ำทะเล 200-1,000 เมตร พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ สัก ประดู่ มะค่าโมง แดง ชิงชัน ตะแบก เสลา โมกมัน อ้อยช้าง ไผ่ป่า ไผ่บง ไผซาง ไผ่รวก ไผ่ไร่ ฯลฯ ป่าเต็งรัง พบในบริเวณที่เป็นเนินเขาเตี้ยๆ มีหินโผล่มาก พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รกฟ้า ประดู่ แดง ตะแบกเลือด แสลงใจ ปรง หญ้าเพ็ก โจด ฯลฯ
ป่าหญ้า เกิดขึ้นภายหลังจากการที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย เมื่อดินหมดความสมบูรณ์ จึงมีหญ้าชนิดต่างๆ สลับกับไม่พุ่มเกิดขึ้น เช่น หญ้าคา หญ้าสาบเสือ เลา พง รวมทั้งมีไม้เลื้อยต่างๆ ขึ้นผสมกับลูกไม้ชนิดต่างๆ
จากสภาพป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติมีสัตว์ป่าและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ หลายประเภท เช่น เก้ง กวางป่า กระจง เลียงผา หมูป่า ลิง ชะนี อีเห็น เม่น กระต่ายป่า กระรอก ไก่ป่า นกขุนทอง นกกางเขนดง นกเปล้า นกเงือก นกเป็ดน้ำ แย้ ตะกวด งูสิง งูเห่า งูจงอาง งูเหลือม ฯลฯ สำหรับในบริเวณอ่างเก็บน้ำมีปลาอยู่หลายชนิด ซึ่งบางชนิดอาจนำจากถิ่นอื่นมาปล่อย ได้แก่ ปลาชะโด ปลาซิวแก้ว ปลากะมัง ปลากะสูบ ปลาตะเพียนขาว ปลาตะโกก ปลานิล ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย และปลายี่สก เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยว
อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขวางกั้นลำน้ำน่าน ภายในอ่างเก็บน้ำปรากฏเกาะแก่งอยู่มากมาย จึงมีทัศนียภาพงดงาม เหมาะสำหรับการล่องเรือชมทิวทัศน์ และสามารถล่องเรือไปได้ไกลจนถึงจังหวัดน่าน ซึ่งเขตติดต่อกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน การเดินทางใช้เส้นทางหวงหมายเลข 1045 สายอุตรดิตถ์ - เขื่อนสิริกิติ์ ผ่านสามแยกร่วมจิต ทางเข้าอำเภอท่าปลา ไปจนถึงบ้านห้วยเจริญ มีป้ายอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เข้าไปตามทางลูกรังอีก ประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์
น้ำตกเชิงทอง เป็นน้ำตกขนาดเล็กริมถนน อยู่ห่างจากพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ ประมาณ 9 กม.มีน้ำไหลตลอดปี และมีทางเดินตามลำห้วยมุ่นต่อขึ้นไปยังน้ำตกห้วยมุ่นและน้ำตกดอยผาหมอก ซึ่งสูงและไหลลดหลั่นลงมาหลายชั้น
ภูพญาพ่อ เป็น จุดสูงสุดบนเส้นทางสายเชิงทอง-กิ่วเคียน สูง 1,350 เมตรจากระดับน้ำทะเลและ ยังเป็นยอดเขาสูงสุดที่แบ่งเขตแดนระหว่างแพร่กับอุตรดิตถ์ บนภูพญาพ่อซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านในท้องถิ่น บริเวณนี้เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นเขาและผืนป่ากว้างไกลไปจนสุดสายตาที่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เส้นทางช่วงต่อไปถนนจะไต่ระดับลงจากเขาจนไปสิ้นสุดที่ อำเภอท่าปลา และสามารถเดินทางต่อไปถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติได้

บ้านพัก
มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ ท่านต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางหวงหมายเลข 1045 สายอุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์ ผ่านสามแยกร่วมจิต ทางเข้าอำเภอท่าปลา ไปจนถึงบ้านห้วยเจริญ มีป้ายอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เข้าไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
หมู่ 8 ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ 53190 โทรศัพท์ : 0 5541 9236 อีเมล : reserve@dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์


การเตรียมตัวขึ้นภูสอยดาว
การขึ้นภูสอยดาว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการไปดูดอกไม้ ซึ่งจะออกดอกบานเยอะช่วงเดือนสิงหาคม - ต้นเดือนตุลาคม ก็เป็นช่วงฤดูฝนอยู่ การเตรียมตัวให้พร้อมถือว่าเป็นเรื่อสำคัญมาก เพราะบนยอดภูไม่มีของขายเลยครับ เริ่มจาก
1. การแต่งกาย ควรเตรียมเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบาและแห้งเร็ว, รองเท้าแบบเดินป่าหรือรองเท้าแตะรัดส้นที่มีพื้นดอกยางใหญ่, เสื้อกันฝน
2. อาหารการกิน บนภูไม่มีขาย ต้องเตรียมไปเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหม้อ กะทะ ช้อน จาน อุปกรณ์หุงต้มและอาหารต่างๆ
3. ของใช้อื่นๆ อาทิ ถุงขยะ, ถุงพลาสติก, ยาสามัญประจำบ้าน, โลชั่นกันแมลง, ไฟฉาย ฯลฯ


อุทยานแห่งชาติคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์

อุทยานแห่งชาติคลองตรอน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ ตำบลผักขวา อำเภอทองแสงขัน ตำบลย้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ นอกจากจะเป็นคลองขนาดใหญ่ยังมีลำห้วยต่างๆ เกิดขึ้นยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญ และสวยงาม คือน้ำตกห้วยเนียม น้ำตกกกมอนแก้ว ถ้ำจันทร์ ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเสือดาว ถ้ำผาตั้ง เขาภูเมี่ยง และหน้าผาที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป สะดวกสบายในการไปพักผ่อนหย่อนใจ อุทยานแห่งชาติคลองตรอนมีเนื้อที่ประมาณ 445 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 278,125 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นเทือกเขาสูงต่ำมีแนวเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาภูเมี่ยง เขาคว่ำเรือ เขาหงายเรือ เขาสามเหลี่ยม เขาหยวก เขาถนน เขาแดด เขาไม้ผา เขาตักบอน เขาน้ำย้อย เขาผักขวง เขาจันทร์ ยอดเขาที่สูงที่สุด อยู่ด้านทิศตะวันออกคือ เขาภูเมี่ยง สูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แหล่งกำเนิดห้วยที่สำคัญไหลจากแนวตะวันออกไปสู่แนวตะวันตกและไหลสู่แม่น้ำ น่าน ได้แก่ ห้วยคลองม้ามืด เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศทั่วไปค่อนข้างร้อน อากาศร้อนในฤดูร้อนคือ เดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว คือเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีฝนตกชุกปานกลางในฤดูฝน เป็นระยะสั้น ๆ ฤดูร้อนค่อนข้างร้อนยาวนานอุณหภูมิต่ำสุดที่ 12.9 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดที่ 42.6 องศาเซลเซียส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าไม้ทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ดิบเขา สนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กะบก ตะเคียนหิน กระบาก ยมหอม สมพง ยาง มะขามป้อม จำปีป่า ไม้สัก แดง ประดู่ ตะแบก ตระคร้อ ตีนนก สมอไทย เต็งรัง เหียง พลวง ติ้ว แต้ว รวมถึงก่อชนิดต่าง ๆ
สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมี เก้ง กระจง เสือลายเมฆ เสือปลา อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ลิง ลิงลม พังพอน กระรอก กระแต เม่น รวมถึงสัตว์เลื้อยคลาน และชนิดต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
น้ำตกคลองตรอน ซึ่งเกิดจากห้วยคลองตรอนมีน้ำตก 2 แห่งคือ แห่งแรกมี 4 ชั้น มีความสูงประมาณ 20 เมตร แห่งที่ 2 ห่างจากแห่งแรกประมาณ 1,500 เมตร มีความสูงประมาณ 30 เมตร การเดินทางเที่ยวชมต้องเดินเท้าเพราะไม่มีทางรถยนต์
น้ำตกห้วยทราย เป็นน้ำตกชั้นเดียวเกิดจากห้วยทราย หรือห้วยคว่ำเรือ มีความสูงประมาณ 35 เมตร อยู่หมู่บ้านบางขามป้อม ไม่มีทางรถยนต์
น้ำตกภูเมี่ยง เกิดจากห้วยเมี่ยง อยู่ระหว่างหมู่บ้านบางขามป้อม กับหมู่บ้านห้วยคอม ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 8 กม. มีน้ำตก 11 ชั้น แต่ชั้นสูงประมาณ 30-45 เมตร น้ำไม่ไหลตลอดปี ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง
น้ำตกห้วยคอม อยู่บริเวณตอนกลางของห้วยคอม บ้านห้วยคอม ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ประกอบด้วยน้ำตก 3 แห่ง แห่งที่ 1 เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูงประมาณ 15 เมตร แห่งที่ 2 ห่างจากแห่งแรก 200 เมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น สูงประมาณ 15 เมตร แห่งที่ 3 ห่างจากแห่งที่ 2 ประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 20 เมตร การเดินทางต้องเดินเท้า ห่างจากหมู่บ้านห้วยคอมประมาณ 5 กม. ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง
น้ำตกห้วยเนียม เกิดจากห้วยสาบ (ชาวบ้านเรียกห้วยเนียม) อยู่ตอนกลางของห้วยเป็นน้ำตก 3 ชั้น สูงประมาณ 5 เมตร การเดินเท้า จากหมู่บ้านห้วยเนียมประมาณ 3 กิโลเมตรไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง
ผาภูเมี่ยง เป็นผาสูงสวยงามมีจุดเด่นเฉพาะตัว เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ เมื่ออยู่บนหน้าผาแล้ว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั่วบริเวณหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน อยู่ระหว่างหมู่บ้านต้นขนุนกับบ้านบางขามป้อม ระยะทาง ประมาณ 10 กิโลเมตร การเดินทางต้องเดินเท้าไม่มีรถยนต์เข้าถึง
ถ้ำจันทร์ เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติคลองตรอนฝั่งขวาในท้องที่ตำบลผักขวา ตำบลทองแสงขัน มีความลึกจากปากถ้ำประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร การเดินทางรถยนต์สามารถเข้าถึงได้
ถ้ำวัวแดงและถ้ำเสือดาว เป็นถ้ำขนาดเล็ก ปากถ้ำแคบภายในโพลงเข้าไปในถ้ำแล้วเป็นทางแยก หลายทาง ห่างจากถ้ำจันทร์ประมาณ 200 เมตร
เขาเจดีย์ เป็นภูเขาหิน มีรูปร่างคล้ายเจดีย์อยู่ห่างจากบริเวณถ้ำจันทร์ประมาณ 500 เมตร มีจุดเด่น เฉพาะตัวมองดูสวยงาม
การเดินทาง
รถยนต์ อุทยานแห่งชาติคลองตรอน จากอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 11 ถึงบ้านน้ำอ่าง อำเภอตรอน เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1047 ถึงอำเภอน้ำปาด ระยะจาก จังหวัดอุตรดิตถ์ถึงอำเภอน้ำปาดระยะทาง 70 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งจากจังหวัดอุตรดิตถ์ถึงอำเภอน้ำปาด ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1045 ระยะทาง 68 กิโลเมตร จากที่ทำการอำเภอน้ำปาด เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1212 (ห้วยเดื่อ-บ้านเพีย) ถึงบ้านต้นขนุน หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด เข้าถึงที่ทำการ (ชั่วคราว) ระยะทางจากที่ทำการอำเภอน้ำปาด ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองตรอน ระยะทาง 23 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติคลองตรอน หมู่ 3 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ 53110

วนอุทยานต้นสักใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์

วนอุทยานต้นสักใหญ่ อยู่ในท้องที่บ้านปางเกลือ หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำไทร อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย มีเนื้อที่ประมาณ 22,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าเต็งรังบนเนินเขา และมีภูเขาสลับกันไม่สูงชันมากนัก
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง บริเวณต้นสักใหญ่ประกอบด้วยไม้สักหลายชั้น อายุมีตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดย่อมและลูกไม้ นอกจากนี้มีไม้เต็งรัง พะยอม แดง ประดู่ ตะแบก เป็นพันธุ์ไม้เด่นที่ขึ้นอยู่ทั่วไป
แหล่งท่องเที่ยว
ต้นสักใหญ่ เป็นต้นไม้สักที่โตที่สุดในโลกปัจจุบัน ที่ยังยืนต้นอยู่จัดที่สูงจากพื้นดิน 1.30 เมตร ลำต้นโต 9.85 เมตร (วัดเมื่อ 13 ตุลาคม 2525) สูงประมาณ 47 เมตร มีอายุซึ่งประมาณว่าไม่น้อยกว่า 1,500 ปี บริเวณรอบ ๆ ต้นสักใหญ่ประกอบด้วยต้นสักขนาดย่อม ลูกไม้สัก เป็นป่าเบญจพรรณซึ่งมีไม้สักเป็นองค์ประกอบโดยรอบ
ป่าธรรมชาติ บริเวณวนอุทยานต้นสักใหญ่สภาพป่าธรรมชาติโดยทั่วไปสภาพดี ประกอบด้วยป่าเต็งรัง ไม้รัง ไม้เพียง ไม้พลอง เป็นองค์ประกอบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วย ไม้ประดู่แดง แดง มะค่าโมง พะยอม ป่าธรรมชาติดังกล่าวปรากฏตามเนินเขาสูง ต่ำ ๆ สลับกันไปเป็นทิวทัศน์สวยงามมาก
บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานต้นสักใหญ่ ไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ส่วนเรื่องอาหารต้องจัดเตรียมไปเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานต้นสักใหญ่โดยตรง รายละเอียดสอบถามได้ที่สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) โทร. (055) 258028 หรือที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900 โทร. 0-25614292 - 3 ต่อ 719 ในวันและเวลาราชการ
การเดินทาง
รถยนต์ จากทางหลวงสายพิษณุโลก - อุตรดิตถ์ ตรงกิโลเมตรที่ 104 - 110 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1047 (ลูกรัง) ไปอีก 53 กิโลเมตร จึงถึงวนอุทยานต้นสักใหญ่
จากทางหลวงสายอุตรดิตถ์ - เขื่อนสิริกิตติ์ - น้ำปาด แยกเข้าไปตรงกิโลเมตรที่ 64–65 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1047 (ลูกรัง) ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร จึงถึงวนอุทยานต้นสักใหญ่

สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานต้นสักใหญ่ สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ต.น้ำปาด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก

ประวัติความเป็นมา
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อ พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ประมาณ 435,320 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอน้ำปาด กิ่งอำเภอทองแสนขัน อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ติดต่อเป็นเทือกเขายาวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันตกเฉียงใต้มีพื้นที่ราบน้อย เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค ลำน้ำตรอน ห้วยน้ำจวง ห้วยพังงา และห้วยเนียม เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
มีภูมิอากาศเป็นปกติ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป มีฝนตกต้องตามฤดูกาล คือจะเริ่มตกราวเดือนเมษายน และหยุดตกราวเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ลักษณะฝนตกเป็นแบบพรำ ๆ
ชนิดป่าและพรรณไม้
สภาพป่าแบ่งเป็น 2 ชั้น ซึ่งเห็นได้ไม่เด่นชัดนัก คือ บริเวณเชิงเขาจะเป็นป่าเต็งรังผสมกับป่าเบญจพรรณ ส่วนบริเวณสันเขาจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา สลับกับ ทุ่งหญ้า และป่าไผ่ พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง ยาง เหียง ประดู่ ชิงชัน ตะเคียน เคี่ยมคะนอง นนทรี กะบก กะบาก แดง สมอ ก่อ พยุง หว้า มะค่า มะยมป่า มะม่วงป่า ตีนนก ลำไยป่า ติ้ว แต้ว ไทร พรรณไม้พื้นได้แก่ อ้อยช้าง ตะแบก งิ้วป่า มะขามป้อม ส้าน กระโดน พรรณไม้พื้นล่าง ได้แก่ กล้วยป่า ไผ่ หวาย ระกำ และว่านต่าง ๆ
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวนที่ปรากฏได้แก่ เลียงผา สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระทิง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว เสือไฟ กวาง เก้ง กระจง หมูป่า หมาใน หมาป่า หมี แมวป่า แมวดาว อีเห็น ลิง ลิงลม ค่าง บ่าง ชนี กระรอก กระรอกบิน นาก จำพวกนกได้แก่ นกขุนทอง กาน้ำใหญ่ กาน้ำเล็ก นกกระสา นกเป็ดน้ำ ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกกะปูด นกขุนแผน นกแก้ว นกเปล้า นกโพระดก นกเงือก นกหัวขวาน นกพญาไฟ นกเขา นกเอี้ยง นกกะราง นกกางเขน สัตว์เลื้อยคลานได้แก่ เต่าปูรู เต่าเหลือง เต่าเคือย เต่าน้ำ ตะพาบน้ำ เหี้ย ตะกวด งูเหลือม งูหลาม งูจงอาง
จุดเด่นที่น่าสนใจ
มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูเมี่ยงสูง 1,564 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสภาพเป็นหน้าผา สูงชัน และยอดเขาภูทองสูง 1,249 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดจวง น้ำตกห้วยทราย และน้ำตกห้วยกอย เป็นต้น
การเดินทาง
เดินทางจากจังหวัดพิษณุโลก โดยรถยนต์โดยสารประจำทางผ่านอำเภอวังทอง อำเภอนครไทย จนถึงอำเภอชาติตระการ โดยที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อยู่ห่างจากตัวอำเภอชาติตระการประมาณ 7 กม. เป็นถนนราดยาง 4 กม. และถนนลูกรัง 3 กม.
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่พักสามารถจุคนได้ประมาณ 10-12 คน มีน้ำประปาและไฟฟ้า (ใช้เครื่องปั่นไฟฟ้า)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม จังหวัดอุตรดิตถ์

ประวัติความเป็นมา
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก แจ้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงภูทอง ว่า พื้นที่บริเวณอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีสภาพป่าสมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 เจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจ บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าจริม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงภูทอง จึงได้สรุปรายงานผลการสำรวจให้กรมป่าไม้ทราบ
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2541 ได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สถานที่ตั้งและอาณาเขต
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม มีเนื้อที่ประมาณ 412,500 ไร่ หรือ 660 ตารางกิโลเมตร อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1243
ทิศตะวันออก จรด ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด , ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1243 และลำน้ำปาด
ทิศตะวันตก จรด อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน
ทิศใต้ จรด ป่าสงวนแห่งชาติป่าจริม
ลักษณะภูมิประเทศ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีแนวสันเขาเป็นอาณาเขตติดต่อระหว่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ และ จังหวัดน่าน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 350 เมตร จนถึง 1,100 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 28 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดฤดูฝน ประมาณ 70 มิลลิเมตร ต่อปี
ป่าไม้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริมสามารถที่จะจำแนกพืชพรรณปกคลุม และชนิดป่า ได้ดังนี้ ป่าดิบชื้น ประกอบด้วยพรรณไม้ประเภทปาล์ม , หวาย , ไม้ไผ่ , เถาวัลย์ชนิดต่าง ๆชนิดไท้ที่พบคือ กระบาก , ไม้ค้อ , ดำดง เป็นต้น ป่าดิบแล้ง ชนิดไม้ที่พบ คือ ตะเคียนทอง , กระบก , ประดู่ เป็นต้น ป่าผสมผลัดใบ ชนิดไม้ที่พบ คือ สัก , ตะแบก , ชิงชัน เป็นต้น ป่าเต็งรัง พรรณไม้ที่พบ คือ ไม้เต็ง , รัง , เหียง , มะขามป้อม เป็นต้น
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าที่พบร่องรอยบริเวณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม ได้แก่ ช้าง , หมีควาย , วัวแดง , เก้ง , หมาใน ส่วนที่เป็นสัตว์ปีกได้แก่ ไก่ป่า , เหยี่ยว เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าสนใจ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม มีแหล่งโบราณคดีที่เป็นที่เคารพนับถือ ได้แก่ ถ้ำพระ และถ้ำแสนหาร
เส้นทางการเดินทาง
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง คือ
1.เดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพฯ ถึงสถานีขนส่ง จังหวัดอุตรดิตถ์
2.เดินทางโดยรถไฟ จากสถานีรถไฟ (หัวลำโพง) กรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟ จังหวัดอุตรดิตถ์
3.เดินทางโดยเครื่องบินโดยสาร จากท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ มายังท่าอากาศยาน จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางโดยรถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1047 เข้าสู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม ระยะรวมจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 630 กิโลเมตร จาก จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
สำนักงานป่าไม้ จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000

เทศกาลและงานประเพณี
งานเทศกาลลางสาด จัดประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ณ บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ในงานมีนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับลางสาด การประกวดลางสาด การประกวดธิดาลางสาด การประกวดรถผลไม้ การออกร้านสินค้าพื้นเมือง
งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด เป็นงานรำลึกถึงวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก และงานฤดูหนาวประจำปี ระหว่างวันที่ 7-16 มกราคม ของทุกปี บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก ในงานจะมีการออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัด และกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ
งานประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (อัฐมีบูชา) จัดในระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 บริเวณวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ในงานมีการจำลองพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า เป็นการน้อมจิตรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
งานเทศกาลวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ในวันขึ้น 8-15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) ของทุกปี จะมีชาวบ้านทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาทำบุญและไหว้พระแท่นศิลาอาสน์กันเป็นจำนวนมาก

ช้อปปิ้ง - ของฝาก
อุตรดิตถ์มีสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจก ผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง หน่อไม้กระป๋อง ลูกตาวเชื่อม ขนมเทียนเสวย กล้วยกวน ไส้เมี่ยง และไม้กวาดตองกง ที่ทำเป็นของใช้และของที่ระลึกอันเล็ก ๆ รถหาซื้อได้ตามร้านค้าในเมือง และที่อำเภอลับแล

ร้านขายของที่ระลึก (รหัสทางไกล 055)
กนกมณี 165/2 ถนนบรมอาสน์ อำเภอเมือง โทร. 411245 รับสั่งทำและจำหน่ายขนมเทียนเสวย
เล่าซุ่นเส็ง 286 ถนนอินใจมี อำเภอเมือง โทร. 411294 ขายปลีกและส่งหน่อไม้กระป๋องและลูกตาวเชื่อมกระป๋อง
พื้นเมือง 148 ถนนอินใจมี อำเภอลับแล โทร. 431042 จำหน่ายสินค้าผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง ไม้กวาดตองกง
อรวรรณ 334–334/1 ถนนเขาน้ำตก อำเภอลับแล โทร. 431059 จำหน่ายผ้าซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นลับแล ซิ่นมุกลับแล


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 055)

ที่ว่าการอำเภอเมือง

411-037 , 413-758

ศาลากลางจังหวัด

411-209 , 411-977

สำนักงานจังหวัด

411-003

เทศบาลเมือง

411-212

ททท.สำนักงานภาคเหนือ เขต 3 จ.พิษณุโลก

252-742-3

ตำรวจท่องเที่ยว

1155

ตู้ยามอุตรดิตถ์

412-193

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง

411-987

ไปรษณีย์จังหวัด

411-053 , 411-929

สถานีขนส่ง

411-059

สถานีรถไฟ

411-023

รพ.อุตรดิตถ์

411-176 , 411-175

รพ.น้ำปาด

481-061

รพ.ลับแล

431-345

รพ.พิชัย

421-145

รพ.ท่าปลา

499-070

รพ.ทองแสนขัน

414-034

รพ.บ้านโคก

486-063

รพ.ฟากท่า

489-089

รพ.ตรอน

491-098

0 ความคิดเห็น: