พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ
ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย
ข้าวจ้าวอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน
• พิจิตร เมืองพญาชาละวัน ถิ่นกำเนิดนิทานเรื่อง “ไกรทอง” เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีความหมายว่า “เมืองงาม” ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดพิษณุโลก มีแม่น้ำน่านกับแม่น้ำยมไหลผ่าน ตัวเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พิจิตรเป็นเมืองเก่าแก่ ในสมัยสุโขทัย ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และในศิลาจารึกหลักที่8 รัชกาลพระยาลิไท เรียกว่า “เมืองสระหลวง” ซึ่งมีสถานะเป็นหัวเมืองเอกของกรุงสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองโอฆบุรี” ซึ่งแปลว่า “เมืองในท้องน้ำ” นอกจากนี้เมืองพิจิตรยังเป็นที่ประสูติของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระศรีสรรเพชญที่ 8 หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ สมัยรัตนโกสินทร์ เมืองพิจิตรเป็นเพียงเมืองขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีเจ้าเมืองปกครองเช่นเมืองอื่นๆ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ย้ายเมืองพิจิตรมาตั้งที่บ้านคลองเรียงซึ่งเป็นคลองขุดใหม่ ลัดแม่น้ำน่านที่ตื้นเขิน คลองเรียงจึงกลายเป็นแม่น้ำน่านไป ส่วนบริเวณเมืองพิจิตรเก่ายังปรากฏโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยา
• จังหวัดพิจิตรมีเนื้อที่ 4,531.013 ตารางกิโลเมตร มีความยาวจากทิศเหนือจดใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ความกว้างจากทิศตะวันออกจดทิศตะวันตกประมาณ 72 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอสามง่าม อำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล อำเภอวังทรายพูน อำเภอทับคล้อ อำเภอวชิรบารมี กิ่งอำเภอสากเหล็ก กิ่งอำเภอคงเจริญ และกิ่งอำเภอบึงนาราง
อาณาเขต
• ทิศเหนือ จดจังหวัดพิษณุโลก
• ทิศใต้ จดจังหวัดนครสวรรค์
• ทิศตะวันออก จดจังหวัดเพชรบูรณ์
• ทิศตะวันตก จดจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์
การเดินทาง
• รถยนต์ ท่านสามารถเดินทางไปจังหวัดพิจิตรได้หลายเส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงจังหวัดนครสวรรค์ แยกเข้าเส้นทางนครสวรรค์ - ชุมแสง - บางมูลนาก - ตะพานหิน - พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 1118) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร รวมระยะทางประมาณ 345 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แยกเข้าสู่เส้นทางตากฟ้า - เขาทราย - สากเหล็ก (ทางหลวงหมายเลข 11) และเข้าสู่จังหวัดพิจิตรที่กิ่งอำเภอสากเหล็ก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 111) รวมระยะทางประมาณ 344 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถึงอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แยกเข้าสู่เส้นทางสายตากฟ้า - เขาทราย (ทางหลวงหมายเลข 11) แยกเข้าเส้นทางเขาทราย - ตะพานหิน (ทางหลวงหมายเลข 113) แยกเข้าเส้นทางตะพานหิน - พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 113) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ 338 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯ (ทางหลวงหมายเลข 1) แยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ที่อยุธยา ถีงจังหวัดนครสวรรค์ แยกเข้าเส้นทางนครสวรรค์ - พิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 117) ถึงอำเภอสามง่าม แยกเข้าเส้นทางสามง่าม - พิจิตร (ทางหลวงหมายเลข 115) เข้าสู่จังหวัดพิจิตร รวมระยะทาง 360 กิโลเมตร
• รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไป-กลับ กรุงเทพฯ - พิจิตร ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง สามารถขึ้นได้จากสถานีสามเสน บางซื่อ ดอนเมือง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 223-7010, 223-7020, 1690
• รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางทั้งปรับอากาศและธรรมดา ไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ - พิจิตร ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 537-8055 (รถธรรมดา) และโทร. 936-0199 (รถปรับอากาศ)
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ (รหัสทางไกล 056)
ศาลากลางจังหวัด โทร. 611199, 612319
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 611611
ที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร โทร. 611147
สถานีตำรวจภูธร โทร. 613436
โรงพยาบาลพิจิตร โทร. 611355, 611230
สถานีรถไฟ โทร. 612163
สถานีขนส่ง โทร. 611622
ไปรษณีย์จังหวัด โทร. 611135
ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
จังหวัดพิจิตร โทร. 611206
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคเหนือ เขต 4
193 ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000
โทร. (055) 514341-3 โทรสาร (055) 514344
พื้นที่ความรับผิดชอบ : ตาก กำแพงเพชร พิจิตร
" ใช้บริการบริษัทนำเที่ยวที่มีใบอนุญาต ท่านจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย "
แผนที่ตัวเมืองพิจิตร
ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
วัดท่าหลวง เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ใกล้ศาลากลางจังหวัด วัดนี้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2388 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีหน้าตักกว้าง 1.40 เมตร สูง 1.60 เมตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองพิจิตร ประวัติมีอยู่ว่า พระพิจิตร ซึ่งเป็นเจ้าเมืองอยากได้พระประธานมาประดิษฐานที่เมืองพิจิตร
ในโอกาสที่ทัพกรุงศรีอยุธยาได้เดินทางผ่านเมืองพิจิตรเพื่อไปปราบขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ พระพิจิตรจึงได้ขอร้องแม่ทัพว่า เมื่อปราบขบถเสร็จแล้วให้หาพระพุทธรูปมาฝาก ดังนั้น เมื่อเสร็จศึก แม่ทัพนั้นจึงได้อาราธนาพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรลงแพลูกบวบล่องมาทางแม่น้ำปิง โดยฝากเจ้าเมืองกำแพงเพชรไว้ ต่อมาจึงได้อาราธนาหลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถวัดนครชุมก่อน แล้วจึงย้ายมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จนถึงปัจจุบัน พระอุโบสถจะเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการหลวงพ่อเพชรได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
บึงสีไฟ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ ในปี 2521 เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง บึงสีไฟถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งแรกของจังหวัดพิจิตร มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ พิจิตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2527 มีเนื้อที่ 170 ไร่ เป็นสวนพักผ่อนริมบึงสีไฟ มีสะพานทอดลงน้ำสู่ศาลาใหญ่ นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารปลาและชมอาทิตย์อัสดง
รูปปั้นพญาชาละวัน เป็นรูปปั้นจระเข้อยู่ด้านหน้าบึงสีไฟ ที่มีความยาวถึง 38 เมตร กว้าง 6 เมตร สูง 5 เมตร ภายในตัวจระเข้นี้ทำเป็นห้องประชุมขนาด 25-30 ที่นั่ง สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ ลักษณะอาคารเป็นรูปดาวเก้าแฉก ยื่นลงในบึงสีไฟ ภายในประกอบด้วยตู้แสดงพันธุ์ปลามากกว่า 20 ชนิด และมีการสับเปลี่ยนชนิดของปลาเป็นประจำ นอกจากนั้นบริเวณส่วนกลางของอาคารยังทำเป็นช่องสำหรับชมปลาในบึงสีไฟ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม วันธรรมดาเวลา 10.00-18.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 10.00-19.00 น.
ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองจังหวัดพิจิตร จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆ ที่ชาวบ้านผลิตขึ้นเอง เช่น เครื่องสานจากผักตบชวา ผ้าทอบ้านป่าแดง มะขาวแก้วสี่รส ฯลฯ เปิดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยจะเปิดตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.
วัดโรงช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลโรงช้างทางทิศใต้ของตัวเมือง ติดกับถนนพิจิตร-สามง่าม-วังจิก (ใช้ทางหลวงหมายเลข 115 และทางหลวงหมายเลข 1068) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 5 วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพระยาโคตรบองขึ้นครองราชย์ สถานที่แห่งนี้เรียกว่า “กองช้าง” เพราะเป็นที่พักของกองช้าง ต่อมาได้เรียกกันเพี้ยนไปเป็น “คลองช้าง” จนกระทั่งทางราชการได้เปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดนี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโรงช้าง” บริเวณวัดโรงช้างมีพระพุทธรูปใหญ่อยู่กลางแจ้ง 3 องค์ เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางห้ามญาติ และปางไสยาสน์ สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือเจดีย์องค์ใหญ่ของวัด ที่ภายในได้สร้างเป็นห้องลับใต้ดินเพื่อใช้สำหรับเก็บแผ่นอิฐจารึกพระไตรปิฎก จำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยได้เล็งเห็นว่า ในอนาคตอาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเช่น สงครามนิวเคลียร์ ซึ่งอาจทำให้พระไตรปิฏกสูญหายจากโลกได้
อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ไปตามเส้นทางสายพิจิตร-สามง่าม-วังจิก ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 6 เป็นที่ตั้งของเมืองพิจิตรเก่า สร้างในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ. 1601 ภายในบริเวณกำแพงเมืองมีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่เศษ ประกอบด้วยซากโบราณสถาน อาทิ กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ มีสวนรุกขชาติกาญจนกุมารซึ่งกรมป่าไม้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 ทำให้ภายในบริเวณอุทยานแห่งนี้มีต้นไม้ร่มรื่นหลายชนิดเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ภายในอุทยานมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ
ศาลหลักเมืองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 อาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ส่วนด้านล่างจะเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระยาโคตรบองซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อปู่”
วัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองพิจิตรเก่า ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของวัดนื้เมื่อ พ.ศ.2478 ประกอบไปด้วยพระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกา ภายในมีพระเครื่องชนิดต่างๆ ซึ่งได้ถูกลักลอบขุดค้นไป ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารเก้าห้อง ด้านหลังพระเจดีย์เป็นพระอุโบสถ มีใบเสมา 2 ชั้น มีรากไทรเกาะอยู่ที่หน้าบัน หลังคาถูกต้นไม้ล้มทับหักลงมาองค์พระก็พลอยโค่นลงมาด้วย บัดนี้เหลือแต่ฐานอิฐสูง กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งเมื่อพ.ศ. 2534 บริเวณใต้เนินดินส่วนวิหารได้พบสิ่งก่อสร้าง 2 ยุคสมัยคือสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา บริเวณโดยรอบพบเจดีย์รายจำนวนมากและแนวกำแพงขนาดใหญ่
ถ้ำชาละวัน มี ที่มาจากวรรณคดีเรื่อง ไกรทอง บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ลักษณะเป็นช่องขุดลึกลงไปในดิน มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณ 65 ปีมาแล้ว พระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่งจุดเทียนไขเดินเข้าไปในถ้ำจนหมดเทียนเล่มหนึ่งก็ ยังไม่ถึงก้นถ้ำ จึงไม่ทราบว่าภายในถ้ำชาละวันจะสวยงามวิจิตรพิสดารเพียงใด ในปัจจุบันดินพังทลายทับถมจนตื้นเขิน ทางจังหวัดได้สร้างรูปปั้นไกรทองและชาละวันไว้ที่บริเวณปากถ้ำด้วย
วัดนครชุม ตั้งอยู่บนถนนสายพิจิตร-สามง่าม-วังจิก (ทางหลวงหมายเลข 1068) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 9 วัดนี้เป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัย มีอายุราว 800 ปี ด้านตะวันออกมีพระอุโบสถเก่าแก่มาก ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน เครื่องบนเป็นไม้โดยใช้สลักไม้แทนตะปู มีช่องระบายลมแทนหน้าต่าง พระอุโบสถหลังนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดท่าหลวง ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลักษณะแบบสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปที่ใช้เป็นประธานในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัต ยาในสมัยก่อน
วัดหัวดง ตั้งอยู่หมู่ 7 ตำบลหัวดง ทางตอนใต้ของตัวเมืองพิจิตรไปตามเส้นทางสายพิจิตร-ตะพานหิน ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2413 ผูกพัทธสีมาครั้งแรก พ.ศ. 2468 มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ได้พบพระรูปเหมือนหลวงพ่อเงินขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว เนื้อนวโลหะ(ทองเหลือง)แทรกขึ้นมาที่ต้นอินทนิลซึ่งมีอายุประมาณ 20 ปีเศษ หลวงพ่อเงินเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักและเคารพเป็นจำนวนมาก
เขารูปช้าง อยู่ ตำบลดงป่าคำ ตามเส้นทางสายพิจิตร-ตะพานหิน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมต มีเจดีย์แบบลังกาซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีหินสีขาวซ้อนกันมองดูคล้ายช้าง แต่เดิมเป็นเจดีย์เก่ามาก่อน และทางวัดได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ โดยประดับกระเบื้องเคลือบสีทองทั้งองค์ มีรั้วรอบองค์เจดีย์ สำหรับลานกว้างบนยอดเขา ทางวัดได้สร้างวิหารใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งและมีเจดีย์เก่าอยู่องค์หนึ่งเป็น เจดีย์แบบลังกาทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา มีตัวระฆังเป็นกลีบมะเฟืองแต่ยอดเจดีย์หักแล้ว นอกจากนั้นยังมีมณฑปแบบจตุรมุขหลังเก่าอยู่ใกล้กับโบสถ์หลังใหม่ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสำริด ที่ฝาผนังมีภาพเขียนเรื่องไตรภูมิพระร่วงด้วย
ข้อมูลท่องเที่ยว อ.โพธิ์ประทับช้าง : อ.ตะพานหิน : อ.โพทะเล : อ.บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
อำเภอโพธิ์ประทับช้าง
วัดโพธิ์ประทับช้าง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์ วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำพิจิตรเก่า หน้าวัดมีต้นตะเคียนซึ่งกล่าวกันว่ามีอายุกว่า 200 ปี วัดโดยรอบได้ 7 เมตร 60 เซนติเมตร หรือ 7 คนโอบ ภายในวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นศิลปะแบบอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 นอกจากนี้ชาวอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ได้สร้างอนุสาวรีย์พระพุทธเจ้าเสือไว้เป็นที่ระลึก ข้างที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้างอีกด้วย อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิจิตร-วังจิก(ทางหลวงหมายเลข1068)ประมาณ กม.ที่ 16 เลี้ยวแยกซ้ายไปทางอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ก่อนถึงตัวอำเภอจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงวัดโพธิ์ประทับช้าง
อำเภอตะพานหิน
พระพุทธเกตุมงคลหรือหลวงพ่อโตตะพานหิน วัดเทวปราสาท เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี พ.ศ. 2513 นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามได้สัดส่วนและใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิจิตร หากเดินทางโดยรถไฟจะมองเห็นองค์พระเหลืองอร่ามแต่ไกล
วัดพระพุทธบาทเขารวก ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลวังหลุม อยู่ห่างจากอำเภอตะพานหินไปประมาณ 10 กิโลเมตร ภายในวัดมีรอยประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี และมี พระอาจารย์โง่น ไสรโย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำพรรษาอยู่ ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธวิโมกข์ปางสมาธิ มอบให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลองที่ทำด้วยไม้ประดู่ใหญ่ที่สุดในโลก และรูปปั้นฤาษีอายุ 1,000-1,500 ปี ซึ่งเป็นหินศิลาแลงจากลุ่มแม่น้ำเขิน ภายในวัดยังมีสวนสัตว์ขนาดเล็กซึ่งมีสัตว์หลายชนิดไว้ให้ชมและศีกษาอีกด้วย
อำเภอโพทะเล
วัดหิรัญญาราม หรือ วัดบางคลาน ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1067 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร เดิมมีชื่อว่า “วัดวังตะโก” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือโบราณวัตถุต่างๆ ที่ทางวัดได้สะสมไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจของวัดนี้คือ พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของ หลวงพ่อเงิน เกจิอาจารย์ที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศรู้จักและเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้
วัดห้วยเขน ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยเขน อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร ไปตามถนนสายบางมูลนาก-วังงิ้ว ภายในวัดมีโบสถ์เก่าซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพของเก่าโบราณที่ยังไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติมใดๆ
วัดท่าช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินมะกอก อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระพุทธรูปหินที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง และที่สังเกตได้ง่ายคือ มีรูปปั้นช้างขนาดใหญ่ 2 เชือกอยู่บริเวณด้านหน้าวัด
วนอุทยานนครไชยบวร จังหวัดพิจิตร
วนอุทยานนครไชยบวร อยู่ในท้องที่ตำบลท่าเสา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองดง (พ.ศ.2509) มีเนื้อที่ประมาณ 1,080 ไร่ กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2532
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นพื้นที่ราบถึงที่ราบลุ่ม ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด มีไม้เด่น คือ ไม้ยางนาธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในพื้นที่ประกอบด้วยหนองน้ำและลำห้วยหลายสายกระจายทั่วพื้นที่ หนองน้ำสำคัญได้แก่ หนองมาบคล้าและหนองสะตือ
พืชพรรณต่างๆ
เป็นป่าไม้ยางนาธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม้ยางมีขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ย 200-300 เซนติเมตร อยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นกลุ่มทั่วพื้นที่ ไม้พื้นล่างเป็นไม้ไผ่ชนิดต่างๆ
ที่พักและบริการ
วนอุทยานน้ำตกนครไชยบวร ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเองแล้วไปติดต่อขออนุญาตกับหัวหน้าวนอุทยานน้ำตกแม่นครไชย บวรโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 หรือ สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) โทร.(055) 258028 ต่อ 503 ในวันและเวลาราชการ
การเดินทาง
รถยนต์ จากจังหวัดพิจิตรเดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางถึงอำเภอโพทะเล ระยะทาง 63 กิโลเมตร เป็นทางหลวงแผ่นดินลาดยางโดยตลอด และจากอำเภอโพทะเลถึงวนอุทยานนครไชยบวรเป็นเส้นทาง ร.พ.ช. (ถนนลูกรัง) ระยะทาง 18 กิโลเมตร รวมระยะทั้งหมด 81กิโลเมตร หรือเดินทางจากนครสวรรค์ โดยเส้นทางหลวงสาย นครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 33 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทาง ร.พ.ช.สายบ้านหนองกรด-บ้านยางเพนียด-บ้านท่าเสา อีก 15 กิโลเมตร รวมระยะทาง 48 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานนครไชยบวร ต.ท่าเสา อ. โพทะเล จ. พิจิตร 66130
โทรศัพท์ 0 5524 8408 อีเมล reserve@dnp.go.th
ข้อมูลงานประเพณีและของฝาก จังหวัดพิจิตร
งานแข่งเรือประเพณี จังหวัดพิจิตรมีการแข่งเรือประเพณีมาเป็นเวลานานแล้วเพราะมีธรรมเนียมว่า วัดใดถ้าจัดงานปิดทองไหว้พระแล้วก็จะต้องจัดงานแข่งเรือควบคู่กันไปด้วย จัดขึ้นในเดือนกันยายน ในงานจะมีการแข่งเรือประเพณีและการประกวดขบวนแห่เรือต่างๆ ในแม่น้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง มีการประกวดสาวงามและการประดับประดาริ้วขบวนต่างๆ สวยงามน่าชมมาก
งานประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญของชาวบ้านป่าแดง ตำบลหนองพยอม ซึ่งเป็นชาวไทยพวน ซึ่งถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จัดตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำและ 3 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) เพื่อแสดงความเคารพบูชาเทวดาและพระมหากษัตริย์ เมื่อถึงวันกำฟ้าชาวไทยพวนจะกลับมายังบ้านของตนเพื่อร่วมทำบุญกับญาติพี่น้อง พบปะสังสรรค์และเล่นกีฬาพื้นบ้าน
พระเครื่องเมืองพิจิตร พระเครื่องหรือพระพิมพ์เมืองพิจิตร เป็นที่รู้จักและนิยมกันโดยทั่วไป กล่าวกันว่าพระพิมพ์ที่พบนั้นมักพบในเขตเมืองเก่าพิจิตร ส่วนมากเป็นพระพิมพ์สมัยสุโขทัย สำหรับชื่อจะตั้งตามพุทธลักษณะหรือตามกรุที่พบ เช่น พระพิจิตรเกศคด พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า ฯลฯ นอกจากนี้เหรียญหล่อจำลองภาพหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ซึ่งมีชื่อด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ก็เป็นที่นิยมของนักเล่นพระทั่วไป
มะขามแก้วสี่รส เป็นของฝากยอดนิยมมีรสอร่อย ราคาย่อมเยา หาซื้อได้บริเวณทางไปบึงสีไฟ
ผ้าทอมือบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน เป็นผ้าทอจากฝ้ายผสมไหมที่มีสีสันต่าง ๆ สวยงาม และราคาถูก สามารถหาซื้อได้ที่บ้านป่าแดง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 6 ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร
ส้มโอท่าข่อย เป็นส้มโอพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในภาคเหนือ มีรสชาดหวานเปรี้ยวกลมกล่อม ไม่มีเมล็ดและเนื้อละเอียด มีผลผลิตในเดือนตุลาคม-เมษายน
ขนุน เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะพันธุ์ “ตะเภาแก้ว” ปลูกมากที่บ้านดงชะพลูและบ้านวังไม้ดัก ตำบลคลองคะเชนทร์ จะออกผลในเดือนเมษายน-มิถุนายน
กระท้อน ปลูกมากบริเวณบ้านวังทับไทร ตำบลท่าเยี่ยม พันธุ์ที่มีชื่อเสียงได้แก่พันธุ์ “นิ่มนวล” และ “ปุยฝ้าย” จะมีผลผลิตมากในเดือนมิถุนายน
มะม่วง ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพิจิตร ได้แก่พันธุ์ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด หนองแซง และน้ำดอกไม้ นิยมปลูกมากที่ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอเมือง ผลผลิตจะออกมากในเดือนกุมภาพันธุ์-เมษายน
มะปราง เป็นผลไม้ที่สร้างชื่อให้จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะพันธุ์ “ปรางไข่” มีผลโตเท่าไข่ไก่ ปลูกมากที่บ้านบางเพียร อำเภอเมือง อำเภอตะพานหิน และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง มะปรางพันธุ์นี้มีผลผลิตในเดือนกุมภาพันธ์
มะไฟหวาน เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่นำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดพิจิตร พันธุ์ที่มีชื่อเสียง คือ “เหรียญทอง” และพันธุ์ “ไข่เต่า” มีรสชาดหวาน ปลูกมากที่อำเภอทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จะมีผลผลิตมากเดือนเมษายน
หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ : ศาลากลางจังหวัด โทร. 0 5661 1199, 0 5661 2319
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5661 1611
ที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร โทร. 0 5661 1147
สถานีตำรวจภูธร โทร. 0 5661 3436
โรงพยาบาลพิจิตร โทร. 0 5661 1355, 0 5661 1230
สถานีรถไฟ โทร. 0 5661 2136
สถานีขนส่ง โทร. 0 5661 1622
สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตร โทร. 0 5661 1206
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น